ประชาชนอยู่ตรงไหนในรัฐสภา ของ "ประชาชน"

“รัฐสภา” เป็นสถาบันที่พวกเรารู้จักกันดีว่ามีหน้าที่ออกกฎหมาย ควบคุมและถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารที่นำโดยคณะรัฐมนตรีผ่านการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อันเป็นส่วนหนึ่งในอำนาจอธิปไตยของประชาชน และยังเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของ “ประชาชน” ซึ่งรัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ที่ทำหน้าที่อยู่ภายใต้รัฐสภา ทั้งนี้ หลายคนคงสังเกตเห็นได้ว่าความหมายและส่วนประกอบของรัฐสภานั้นมีส่วนของประชาชนอยู่เสมอ แต่สิ่งนั้นเป็นจริงแค่ไหนในประเทศไทย หรือว่าประชาชนอยู่ตรงไหนของรัฐสภาไทย ผู้เขียนขอพาทุกท่านไปสำรวจสิ่งเหล่านี้ไปพร้อมๆ กันครับ

 

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินเข้าสู่สมรภูมิแห่งความต้องการที่เต็มไปด้วยความหวังจากการเลือกตั้ง หลายคนหวังว่าจะได้รัฐบาลที่ตอบรับกับความต้องการของตัวเอง บ้างก็หวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นความหวังเหล่านี้ก่อตัวเป็นไฟที่คุกรุ่นในสังคมลามไปถึงรัฐสภา แต่ความหวังเหล่านี้กลับถูกสกัดกั้นด้วยเงื่อนไขมากมายที่ประชาชนอาจจะไม่ได้กำหนดขึ้นมา ทำให้กระบวนการต่างๆ เกิดความล่าช้ากว่าที่ควร ตั้งแต่กระบวนการรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ใช้เวลาถึงเดือนกว่าๆ ไหนจะการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่ใช้ถึง1 เดือนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรี สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนความหวังให้กลายเป็นความรู้สึกอื่นๆ มากมาย รวมถึงความรู้สึกถูกทอดทิ้งและผลักออกจากกระบวนการในรัฐสภาที่หลายส่วนทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจว่า รัฐสภาแห่งนี้ยังคำนึงถึงเสียงของประชาชนอย่างเต็มที่อยู่หรือไม่ หากแต่เราจะสำรวจข้อเท็จจริงเหล่านี้แล้ว การยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้นคงไม่เพียงพอและอาจดูไม่ยุติธรรมแก่รัฐสภาไทย ดังนั้น เราไปดูกันว่าก่อนที่จะถึงช่วงเวลาแห่งความหวังนี้ รัฐสภาไทยได้วางประชาชนอยู่ในส่วนไหน และพวกเขาสามารถเข้าถึงคำว่า รัฐสภาของ “ประชาชน” ได้แค่ไหน

 

หลายคนอาจจะทราบหรือไม่ทราบถึงการมีอยู่ของเว็บไซต์รัฐสภาไทย (www.parliament.go.th) ที่เต็มไปด้วยข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวาระการประชุมในรัฐสภา การลงมติต่างๆ รัฐธรรมนูญของไทย หรือแม้แต่บริการทางกฎหมายก็มีอยู่บนเว็บไซต์นี้ ซึ่งถือว่าเป็นเว็บไซต์ที่ครอบคลุมความต้องการของประชาชนที่มีต่อรัฐสภาได้ในหลายๆ ด้าน แต่ก็น่าสงสัยว่า ทำไมเว็บไซต์ที่ดูเป็นประโยชน์นี้ถึงยังไม่สามารถเป็นที่พึ่งสำคัญของประชาชนในการเข้าถึงเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐสภาได้เท่าไรนัก (ก่อนจะไปดูตัวอย่าง ผู้เขียนแนะนำให้ทุกท่านเปิดเว็บไซต์รัฐสภาไทยดูไปพร้อมๆ กันเพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น) ผู้เขียนขอยกตัวอย่างช่วงเวลาที่ประชาชนอย่างเราต้องการข้อมูลและที่พึ่งอย่างช่วงก่อนเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และคิดว่าทุกคนคงยังจำช่วงเวลานั้นได้อย่างดี ช่วงเวลาที่เราต่างเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังอันเอ่อล้นแต่เมื่อเราต้องการทราบว่า แล้วแต่ละพรรคทำงานอะไรไปบ้างใครคนไหนทำอะไรไปบ้างในช่วงใด ตอนนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคนอยู่ในพรรคไหน หรือแม้แต่ใครเข้าประชุมบ้าง ก็ยังไม่มีปรากฏในเว็บไซต์ให้เราเห็นได้โดยง่าย บ้างก็ต้องอ่านเอกสารหลายสิบหลายร้อยฉบับเพื่อประกอบการพิจารณาว่าเราควรจะเลือกใครเป็นผู้แทน บ้างก็รวบรวมและจัดทำแหล่งข้อมูลเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ประชาชนเช่น ใครคือผู้แทนของเรา (theyworkforus.wevis.info) หรือที่ผ่านมารักษาสัญญาได้แค่ไหน? (promisetracker.wevis.info) แต่อีกส่วนหนึ่งก็ยอมแพ้และเลือกที่จะเสพ
ในแหล่งข้อมูลอื่นๆ อย่าง โซเชียลมีเดีย โทรทัศน์ หรือป้ายหาเสียงต่างๆ ที่มีความเป็นปัจเจกสูง สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลจากหลายแหล่งจนเกิดปัญหาการรับรู้ข้อมูลไม่เท่ากัน (Asymmetric information) และทำให้การตัดสินใจถูกรบกวนอย่างมาก จากตัวอย่างที่ทุกท่านได้อ่านมาคงจะพอเห็นได้ว่า เว็บไซต์รัฐสภาไทยอาจไม่ถูกออกแบบด้วยหลักการยึดผู้ใช้เป็นหลัก (User-centric) ซึ่งผู้ใช้หลักก็ควรจะเป็นประชาชนผู้เป็นเจ้าของรัฐสภา แต่ประชาชนกลับใช้งานได้ไม่ง่ายนัก

 

โดยสำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้าร่วมกับศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มเทคโนโลยีภาคประชาชน (WeVis) และบริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ได้สังเกตเห็นถึงความสำคัญของเว็บไซต์รัฐสภาไทยที่ควรเป็นพื้นที่ที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและมากที่สุด จึงได้จัดทำ “โครงการสำรวจและศึกษาการเปิดเผยข้อมูลของรัฐสภาไทยบนเว็บไซต์โดยเปรียบเทียบจากมาตรฐานสากลและความคิดเห็นของผู้ใช้งานเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะ ตามหลักการว่าด้วยรัฐสภาแบบเปิด (Open Parliament)” เพื่อสำรวจว่าเว็บไซต์รัฐสภาไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือยังตอบสนองกับความต้องการของประชาชนหรือไม่ และต้องทำอย่างไรเพื่อให้รัฐสภาไทยพัฒนาสู่การเป็นรัฐสภาแบบเปิด (Open Parliament) จากการสำรวจพบว่า เว็บไซต์รัฐสภาไทยยังเปิดเผยข้อมูลไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และประชาชนหลายภาคส่วนยังรู้สึกว่าเว็บไซต์นี้ยังตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้ไม่ดีพอ จากปัญหาความซับซ้อนของเว็บไซต์ที่ทำให้ค้นหาสิ่งที่ต้องการไม่เจอ แถมข้อมูลที่เปิดเผยยังนำไปใช้ต่อยาก เพราะเปิดเผยเป็น PDF หรือเป็นเอกสารสแกนที่ยังใช้เทคโนโลยีมาช่วยวิเคราะห์ไม่ได้ และเอกสารที่สำคัญอย่างรายงานการประชุมภายในรัฐสภายังถูกเปิดเผยอย่างล่าช้า ซึ่งหลายๆ คนที่อ่านมาถึงจุดนี้อาจมองว่าเป็นปกติที่เว็บไซต์ที่มีข้อมูลเยอะแบบนี้จะซับซ้อนและใช้งานยาก แต่หากลองเปรียบเทียบกับเว็บไซต์ของรัฐสภาต่างประเทศ เช่น รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร (https://www.parliament.uk) หรือรัฐสภาแห่งแคนาดา (https://www.parl.ca) จะเห็นได้ชัดว่าเว็บไซต์ถูกออกแบบมาอย่างเป็นระเบียบ และสังเกตได้ว่าคำนึงถึงผู้ใช้งานทุกประเภท เพราะมีคู่มือแนะนำการใช้งานเว็บไซต์อย่างละเอียด และประกาศนโยบายต่างๆ ที่ใช้กำกับดูแลบนเว็บไซต์อย่างชัดเจน ซึ่งหลังจากสำรวจส่วนต่างๆ แล้ว จึงสรุปออกมาเป็นข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติได้ 2 ข้อหลักๆ คือ

 

1. พัฒนาโครงสร้างเว็บไซต์ให้ใช้ง่าย โดยโครงสร้างควรเป็นเหมือนกันในทุกหน้าเพื่อลดทอนกระบวนการเข้าถึง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้สะดวกมากขึ้น

2. พัฒนารูปแบบการเปิดเผยข้อมูลให้ง่ายต่อการนำไปใช้งาน โดยคำนึงถึงผู้ใช้งานทุกประเภท เชื่อมโยงส่วนที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยกัน และแสดงผลภาพรวมเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ใช้งานได้เข้าใจสิ่งต่างๆ ง่ายขึ้น

 

จากเรื่องราวทั้งหมดที่ถูกกล่าวมาอาจทำให้เห็นว่า รัฐสภาไทยอาจยังไม่ได้คำนึงถึงส่วนประกอบหลักอย่างประชาชนมากเท่าที่ควร เพราะสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนนั้นยังถูกออกแบบโดยพื้นฐานที่ไม่มีประชาชนเป็นส่วนหนึ่งในนั้น ทั้งนี้ ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาเพื่อตำหนิหรือตัดกำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอย่างขันแข็ง และมีความตั้งใจเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงรัฐสภาได้มากขึ้น หากแต่เพียงหวังให้ผู้มีอำนาจเล็งเห็นถึงความสำคัญของประชาชนในทุกภาคส่วนผ่านทุกการกระทำ ไม่เว้นแม้แต่การดำเนินงานภายในรัฐสภาและส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งควรมีประชาชนเป็นปัจจัยหลักในนั้นเสมอ และผู้เขียนยังหวังอย่างยิ่งว่า รัฐสภาไทยจะกลายเป็นรัฐสภาของ “ประชาชน” ได้อย่างแท้จริงในสักวัน

 

คลิกเพื่ออ่านบทความคิดด้วยพลเมือง 

เนื้อหาโดย : วสุพล ยอดเกตุ

ภาพประกอบ : Khana Research Curator