โรงพยาบาลกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

ก้าวแรก...จุดเริ่มต้น

 

ดังคำกล่าวที่ว่า “หนทาง 10,000 ลี้เริ่มต้นทีก้าวแรก” เป็นความจริงเสมอ เช่นเดียวกันกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้พิการที่ได้เริ่มต้นขึ้น จากความตั้งใจที่ดีของผู้ริเริ่มซึ่งมองเห็นศักยภาพของโรงพยาบาลในระดับอำเภอและมองเห็นความมีพลังที่จะไปสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการต่างๆที่มีศักยภาพสูงในการจ้างงานคนพิการได้อย่างต่อเนื่อง จึงเกิดการรวบรวมโรงพยาบาลในเครือข่ายจัดหาทั้งคนพิการในชุมชนและหาตำแหน่งงานที่พร้อมดำเนินการบรรจุคนเข้าทำงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยในระยะแรกสุดสามารถรวมตัวได้ 32 โรงพยาบาลประกอบด้วยโรงพยาบาลในระดับจังหวัด 3 แห่งและระดับอำเภอ 29 แห่ง จัดตั้งกลไกในระดับอำเภอให้เกิดความพร้อมและเข้าเรียนรู้วิธีการดำเนินงานทำให้ได้อัตราจ้างถึง 294 ตำแหน่ง ช่วยเหลือคนพิการและครอบครัวได้ถึง 200 กว่าคน นับเป็นความสำเร็จก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ มีหลายชีวิตที่ได้รับโอกาสที่เปรียบเสมือนน้ำทิพย์หล่อเลี้ยงชีวิตที่อับจนหนทาง หลายชีวิตที่ได้รับโอกาสนี้ไปพลิกชีวิตที่ต่ำต้อยให้สูงขึ้น   

     

อย่างไรก็ดีการทำงานล้วนมีปัญหาและอุปสรรคให้เผชิญ และเป็นความท้าทายที่ผู้ปฏิบัติจะต้องฝ่าฟัน ไปตามความฝันที่ต้องการช่วยเหลือผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก ถึงแม้ว่า การจ้างงานคนพิการนี้อยู่ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงที่เป็นผู้ถือนโยบายภาครัฐก็ตาม ก็ยังคงมีอุปสรรคคือความไม่แน่นอนของจำนวนอัตราจ้างซึ่งขึ้นกับการเติบโตหรือการคงอยู่ของธุรกิจภาคเอกชนเป็นสำคัญ นี่ยังไม่นับปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวคนพิการที่พบได้ตั้งแต่การเจ็บป่วยใหม่ที่เข้ามาคุกคามชีวิต หรือความเปลี่ยนแปลงของครอบครัวคนพิการที่คอยสนับสนุนการใช้ชีวิตด้านต่างๆ ซึ่งโรงพยาบาลต่างๆจะต้องบริหารจัดการให้มีคนพิการเข้ามาอยู่ในตำแหน่งการจ้างงานนั้นนั้นให้ต่อเนื่องเต็มปีที่จ้าง เพื่อไม่ให้ผิดสัญญากับบริษัทได้ นี่คือความแข็งแกร่งของการมีเครือข่ายซึ่งสามารถช่วยเหลือกันหากโรงพยาบาลแห่งใดไม่สามารถจัดหาคนพิการทดแทนคนเดิมได้ในระยะเวลาสั้นๆที่กำหนดไว้ ก็จะให้โรงพยาบาลในเครือข่ายที่มีคนพิการพร้อมทำงานอยู่ในทะเบียนรับอัตราแทนได้ สิ่งสำคัญที่เครือข่ายได้เรียนรู้คือการรักษาสัญญากับบริษัทเอกชนต่างๆจะทำให้เกิดความเชื่อถือเชื่อมั่นจึงจะทำให้การขับเคลื่อนนี้ไม่เกิดการสะดุดจึงจัดเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน

 

ก้าวที่ 2 ย่างก้าวแห่งการขยายเครือข่าย ด้วยบัดดี้พี่เลี้ยง

 

ด้วยการมองเห็นความทุกข์ยากของคนในชุมชน  เป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้คนให้ได้มากขึ้นจำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีศักยภาพมากขึ้นกว่าเดิม จึงเป็นที่มาของก้าวที่ 2 ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากโรงพยาบาลในจำนวนที่มากขึ้น โดยมีข้อจำกัด คือ ผู้ที่ทำงานในกลไกส่วนกลางมีจำนวนจำกัดเท่าเดิมจึงเกิดแนวคิดการขยายงานด้วยการสร้างพี่เลี้ยง จึงได้กำหนดให้โรงพยาบาลในระยะที่ 1 ต้องเป็นพี่เลี้ยงช่วยโรงพยาบาลที่สมัครเข้าเครือข่ายรายใหม่ในการขับเคลื่อนทั้งการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไปในโรงพยาบาล การทำความเข้าใจขั้นตอนต่าง ๆ ในการค้นหาผู้พิการการจัดสรรอัตราจ้างและการจัดการตำแหน่งงาน

 

ทีมส่วนกลางยังคงจำเป็นต้องดูแลให้โรงพยาบาลในเครือข่ายสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ เพื่อคงรักษาความเชื่อถือจึงจะเกิดความเชื่อมั่นจากภาคเอกชนได้ดี ในขั้นตอนนี้เราได้กำหนดให้ 1 โรงพยาบาลพี่ดูแล 2-3 โรงพยาบาลน้อง จากการดำเนินงานดังกล่าวสามารถขยายขอบเขตพื้นที่การช่วยเหลือคนพิการออกไปได้ถึง 32 จังหวัด มีโรงพยาบาลที่ได้คนพิการมาช่วยทำงานถึง 69 แห่ง และคนพิการที่ได้รับประโยชน์มีจำนวน 1,055 คน

 

ก้าวที่ 3 ความพยายามมุ่งสู่วิถีใหม่

 

ในภาวะที่สถานการณ์ของสังคมทั่วโลกประสบกับการแพร่ระบาดของโรค covid-19 ซึ่งส่งผลให้เกิดวิถีดำเนินชีวิตแบบใหม่ ผู้คนจำเป็นต้องอยู่ห่างไกลกันลดการเดินทางไปมาหาสู่ทำให้เกิดก้าวใหม่ คือ การนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงานอย่างแพร่หลาย ในขณะเดียวกันสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความไม่แน่นอนต่อการจ้างงานคนพิการเนื่องจากการหดตัวขนานใหญ่ของเศรษฐกิจซึ่งทำให้สถานประกอบการหลายแห่งปิดตัวลงหรือบางแห่งจำเป็นต้องลดขนาดการผลิตส่งผลให้มีผู้คนตกงาน จำนวนคนงานลดลงจึงมีผลทำให้อัตราการจ้างงานคนพิการลดน้อยลงไปด้วย เครือข่ายของโรงพยาบาลก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ด้วย เราเสียอัตราคนพิการไปเป็นจำนวน 6 ราย ทำให้ในปี 2565 เราได้อัตราจ้างงานเป็นจำนวน 294 คน ให้แก่โรงพยาบาลในเครือข่ายจำนวน 69 แห่ง ใน 32 จังหวัด

 

เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาหนึ่งให้เกิดความพยายามในการสร้างงานใหม่ขึ้นที่ไม่ต้องพึ่งอัตราจ้างงานจากสถานประกอบการใดๆ แต่เป็นการมุ่งสู่การพัฒนาให้คนพิการมีความสามารถเพิ่มเพื่อไปเป็นผู้ประกอบการด้วยตนเอง โดยการริเริ่มนี้ได้นำโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและความตั้งใจที่จะฝ่าขวากหนามใดๆที่พบ ทำการรวบรวมคนพิการที่ตนดูแลสร้างเป็นกลุ่มผู้ดำเนินการผลิตสินค้าหรือบริการ มีจำนวนโรงพยาบาลเริ่มต้นจำนวน 10 แห่ง โดยที่แต่ละแห่งจะทำการมองหาโอกาสภายใต้บริบทของตนเอง สร้างอาชีพ ตั้งแต่ การทำเกษตรอินทรีย์, ร้านกาแฟ, บริการล้างรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวอาศัยการสนับสนุนจากหลายส่วน ณ วันนี้โครงการดังกล่าวเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาหลายแห่ง และบางแห่งอยู่ระหว่างการพัฒนาจัดตั้งธุรกิจขึ้น

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า การทำธุรกิจมีแง่มุมหลายอย่างที่ต้องบริหารจัดการ ไม่ใช่สิ่งง่ายเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความพยายามมีการต่อสู้ต่ออุปสรรค ต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอพร้อมกับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องซึ่งเครือข่ายต่างพยายามเป็นกำลังความคิดเกื้อหนุนกันและกัน เป็นกำลังใจในการเดินหน้าบนวิถีทางความดีแบ่งปันโอกาสต่างๆให้กับคนพิการเพื่อให้คนเหล่านั้นมีชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งการก้าวเดินนี้ยังคงก้าวต่อไป เมื่อเดินแล้วจะหยุดกลางทางคงไม่ได้ เรายังคงต้องเดินหน้าต่อซึ่งในที่สุดก็จะประสบผลสำเร็จ นั่นหมายถึง กลุ่มคนพิการที่จะสามารถดำรงชีวิตอย่างคนปกติที่มีชีวิตอิสระไม่ต้องเป็นภาระพร้อมกับมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อๆไป

 

โดยสรุปหากลองวาดภาพจากบทความนี้ จะเห็นภาพของหน่วยงานที่ดำเนินการด้วยผู้คนที่มีความต้องการจะช่วยเหลือคนพิการให้สามารถมีชีวิตที่ดี การที่จะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้นั้น จำเป็นต้องมีผู้คนที่มีคุณสมบัติ ดังนี้

 

●   ความมุ่งมั่น + ความกล้าหาญ

●   ความวิริยะอุตสาหะ + จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์

●   ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค + ความเป็นผู้นำ

 

ไม่จำเป็นว่า จะต้องมีชื่อเสียง ขอเพียงศรัทธาและเชื่อมั่นในคนพิการก็จะพากันไปถึงจุดหมายที่มีชื่อว่า “คุณภาพชีวิต” นั่นเอง

 

 

การจ้างงานคนพิการเพื่อสังคมในโรงพยาบาล ตาม พรบ.ฯ มาตรา 33 และมาตรา 35

 

การส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการนอกจากทำการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการจนสามารถใช้ศักยภาพของตนเองได้และต่อยอดไปสู่การมีความสามารถมีวิถีชีวิตอิสระและประกอบอาชีพ เลี้ยงตัวเองได้ จนสามารถช่วยเหลือครอบครัวและสังคมได้ ไม่เป็นภาระกับสังคม ในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการให้ดำรงสมรรถภาพหรือคงความสามารถที่มีอยู่เดิมไว้ โดยอาศัยกระบวนการทางการแพทย์ การศาสนา การศึกษา สังคม อาชีพ หรือกระบวนการอื่นใด เพื่อให้คนพิการได้ มีโอกาสทำงานหรือดำรงชีวิตในสังคมอย่างเต็มศักยภาพเป็นหน้าที่โดยตรงของโรงพยาบาลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดูแลรักษาและฟื้นฟูชีวิตประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ

 

ในด้านการจัดจ้างงานของคนพิการตามกฎหมายที่บัญญัติให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงานที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการหรือหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้มีหลักเกณฑ์กำหนดตามกฎหมายมาตรา 33 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงาน สามารถส่งเงินเข้ากองทุน หรือนายจ้างหรือเจ้าของ สถานประกอบการไม่รับผู้พิการเข้าทำงาน และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุน ก็สามารถดำเนินการตามมาตรา 35 ซึ่งเป็นทางเลือกตามระเบียบ ที่อาจให้สัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงานหรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือ สิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้

 

จึงเป็นที่มาของการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการโดยให้เข้ามาทำงานในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีภาระงานมากล้น เนื่องจากต้องทำงานหลายด้านและจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในปัจจุบันมีมากจนทำให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาล และทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนพิการได้รับโอกาสทำงานใกล้บ้าน และช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง

 

ขั้นตอนการจัดหาคนพิการเพื่อเข้าทำงาน

 

โดยการจ้างงานตามมาตรา 33  และมาตรา 35

 

  1. โรงพยาบาลทำการจัดหาคนพิการที่ขึ้นทะเบียนคนพิการและได้รับการฟื้นฟูสมรรถนะแล้ว โดยให้แต่ละแห่งทำการฝึกทักษะเพื่อให้เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่จำเป็น
  2. จัดเตรียมเอกสารสำหรับการเข้าทำงานให้พร้อม ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาบัตรผู้พิการ, สำเนาทะเบียนบ้าน, หนังสือสัญญาให้ใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติงาน,สำเนาหน้าบัญชี(เพื่อรับเงินเดือนโดยตรงจากผู้ประกอบการ), เอกสารแสดงตำแหน่ง/ภารกิจงาน เป็นต้น
  3. รับอัตราจ้างจากทีมส่วนกลาง “สถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม (สพบ.)”
  4. ส่งเอกสารตามที่กำหนด ภายในเดือนธันวาคมของทุกปี
  5. เมื่อเอกสารครบถ้วนและได้รับคำตอบในการจ้างงาน จึงให้เรียกตัวคนพิการเข้าทำงาน
  6. ตรวจสอบการทำงานเป็นประจำ และส่งเอกสารเพื่อทำการกำกับดูแลงานตามที่บริษัทคู่สัญญากำหนด
  7. สรุปผลงานส่งเป็นรายเดือน รายไตรมาส

 

ผลที่จะได้รับ

  • โรงพยาบาลได้บุคลากรเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระงานที่มากล้นของโรงพยาบาล รวมทั้งสามารถดูแลและพัฒนาศักยภาพของคนพิการในชุมชนได้อย่างใกล้ชิด
  • คนพิการในต่างจังหวัดได้รับโอกาสมีอาชีพ มีรายได้ สามารถดูแลตนเองและครอบครับได้ รวมทั้งยังได้รับการพัฒนาศักยภาพและเป็นหนึ่งในบุคลากรที่สำคัญของโรงพยาบาล
  • สถานประกอบการได้ดำเนินการตามกฎหมายและได้ช่วยเหลือคนพิการในต่างจังหวัดให้ได้มีงานทำ รวมทั้งช่วยสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาล

 

ข้อมูลโดย : สถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม(สพบ.)

ภาพประกอบ : pixabay/AbsolutVision