โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน
เสร็จสิ้นลงไปแล้วสำหรับการจัดกิจกรรม “Sustrends 2024 : 50 เทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังเปลี่ยนโลก” ซึ่งมีการจัดกิจกรรมไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ พิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิติ ท่ามกลางผู้เข้าร่วมงานที่สนใจในการเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านต่าง ๆ ในโอกาสนี้ ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder and Chief Advisor บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด หรือ HAND ได้มีโอกาสเข้าร่วมเพื่อนำเสนอ trend ใหม่ของปี 2024 ในเรื่อง Governance หรือ ธรรมาภิบาล ในหัวข้อ “ข้อมูลเปิดเพื่อสร้างระบบนิเวศน์ธรรมาภิบาล (Open Data: How to create Governance Ecosystem)” โดย ผศ.ดร. ต่อภัสสร์ ได้เขียนสรุปสิ่งที่นำเสนอบนเวทีเอาไว้ในคอลัมน์ แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชันหนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ เมื่อวันพุธ ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2566 ในการนี้ทาง HAND จึงได้สรุปเนื้อหาเพื่อให้ทุกท่านได้อ่านกันอีกครั้ง
คอร์รัปชันเกิดง่ายเพราะขาด “ธรรมาภิบาล”
ถ้าพูดถึงความยั่งยืน จะไม่พูดถึง Governance หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า ธรรมาภิบาล ไม่ได้เลยครับ เพราะเราได้เห็นชัดเจนกันอยู่แล้วว่าที่ผ่านมา อยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ เพราะหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องความขาดประสิทธิภาพ อยากอนุรักษ์ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่อยากสร้างโครงสร้างสวัสดิการที่ดีให้แก่ประชาชนก็ไม่ถึงมือประชาชนจริงๆ สาเหตุสำคัญก็มาจากการคอร์รัปชัน และที่คอร์รัปชันเกิดขึ้นได้ง่ายเหลือเกินในประเทศนี้ก็เพราะมันขาดระบบการกำกับดูแลที่ดี หรือ ขาดธรรมาภิบาลนี่เองครับ
อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้หมายความว่าที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีความพยายามป้องกันแก้ไขปัญหานี้มาก่อนเลยนะครับ เราทำและทำเยอะมาก ไม่อย่างนั้นเราไม่มีกฎหมายถึง 15 ฉบับเพื่อแก้คอร์รัปชันอย่างเดียว มีองค์กรรัฐขนาดใหญ่มากมาย เช่น ป.ป.ช. ป.ป.ท. สตง. และคณะกรรมการอื่นๆ อีกมากมาย แต่ทั้งหมดนี้ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยให้ระบบมันดีขึ้น หรือ ยั่งยืนได้เลย
ปลุกพลังต้านโกง...แล้วต้องทำอย่างไรต่อ ?
เหตุผลหนึ่ง คือ แนวทางการต่อต้านคอร์รัปชันแบบนี้มันเป็นเทรนด์ในอดีตมาก สัก 20-30 ปีแล้ว ที่เน้นการใช้อำนาจรัฐปราบปราม ตั้งองค์กรอิสระ และใช้กฎหมายที่เข้มงวด ซึ่งแม้เคยจะประสบความสำเร็จมาในหลายที่ เช่น ฮ่องกง หรือ สิงคโปร์ แต่เมื่อไทยรับมาแค่รูปแบบ โดยไม่ได้เอารายละเอียดมาประยุกต์กับบริบทของประเทศอย่างครอบคลุมและลึกซึ้ง จึงทำให้เรายังไปได้ไม่ถึงไหน
อีกเทรนด์ ในอดีตที่เราเคยใช้และยังใช้อยู่ คือ การปลุกพลังและจิตสำนึกของประชาชนให้ลุกขึ้นต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งสำคัญและจำเป็นมาก แต่ปัญหาคือตอนนี้คนลุกขึ้นมาพร้อมต้านโกงแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ ต้านยังไง เอาอะไรไปต้านคนโกงที่มีอำนาจและอิทธิพลมากเหลือเกิน
เทรนด์ OPPA ตัวช่วยติดอาวุธปราบทุจริต
ดังนั้น ในวันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังว่า แล้วเทรนด์ในการสร้างระบบที่ดี ที่ไทยจะกระโดดขึ้นรถไฟขบวนนี้ไปได้ทัน เพื่อไปสู่ความฝันในการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเนื่องจาก trend นี้ได้พิสูจน์ให้เห็นผลสำเร็จในหลายๆ ประเทศแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ผมเลยขอเรียกเทรนด์นี้ง่ายว่า“โอปป้า” หรือ “OPPA” ครับ
เทรนด์แรกคือ OP มาจาก Open Data หรือการเปิดข้อมูลครับ คือการติดอาวุธให้ประชาชนที่ลุกขึ้นมาพร้อมร่วมต้านโกงแล้วด้วยข้อมูล เพราะถ้าไม่รู้ ไม่เห็นอะไรเลย แล้วจะติดตามตรวจสอบได้อย่างไร การเปิดเผยข้อมูลนี้จะช่วยมากกว่าแค่ติดตามการใช้งบประมาณต่างๆ เท่านั้น แต่ติดตามการทำงานของหน่วยงานต้านโกงต่างๆ ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วย เป็นการฟื้นเทรนด์ในอดีตให้กลับมาเป็นประโยชน์อีกครั้งได้ด้วย
เปิดข้อมูลรัฐสู่สาธารณะให้ทุกคนเข้าถึง
ผมยกตัวอย่าง www.openspending.org ของอังกฤษ ที่เปิดข้อมูลรัฐทั้งหมดอย่างเป็นมาตรฐาน พร้อมให้ประชาชนเอาไปใช้งานได้ทันที นั่นหมายความว่า ทุกวันนี้มีมาตรฐานการเปิดข้อมูลที่เราสามารถนำมาใช้ได้เลยด้วยไม่ต้องคิดใหม่เองเลย ส่วนในไทย เราก็มีความพยายามต่างๆ จากภาครัฐบ้าง เช่น ภาษีไปไหน โดยสำนักงานรัฐบาลดิจิทัล และจากภาคประชาชนอย่าง ACT Ai โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ที่นำไปสู่การเปิดโปงกรณีดังๆ อย่างเสาไฟฟ้ากินรีไงครับที่ชาวบ้านคนนึงเข้าไปดูข้อมูลจัดซื้อเสาไฟฟ้าจาก ACT Ai เห็นว่าแพงผิดปกติ เลยเอาไปแฉ และร้องเรียน จนเกิดเป็น กระแส นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราเห็น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือยังมีอุปสรรคอยู่มาก หน่วยงานรัฐหลายหน่วยยังหวงข้อมูล ปากบอกอยากโปร่งใส แต่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ดูตัวอย่าง ป.ป.ช. ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการสร้างความโปร่งใสในสังคม แต่ข้อมูลชุดสำคัญที่หน่วยงานถืออยู่อย่างทรัพย์สินนักการเมือง กลับเปิดเผยเพียง 180 วันแล้วปิดระบบเลย แถมยังปิดไม่ให้ download ข้อมูลด้วย ถ้าอยากเก็บข้อมูลไว้ ต้องไปถ่ายรูปหน้าจอคอมพิวเตอร์ทีละภาพๆ เป็นต้นทุนอย่างมหาศาล
สร้างพื้นที่ร่วมกันให้ประชาชนได้ขับเคลื่อน
เทรนด์ที่สองคือ P มาจาก Participation หรือ การสร้างความร่วมมือจากประชาชนอย่างทั่วถึงครับ ซึ่งมันมีความต่อเนื่องมากจากเทรนด์แรก เพราะเมื่อเปิดเผยข้อมูลอย่างครอบคลุมและมีมาตรฐานแล้ว ต้องผลักดันให้นำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ให้ได้ด้วยการนำข้อมูลมาประมวลผลให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และสร้างช่องทางต่อเนื่องในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้น ยกตัวอย่างใกล้ ๆ บ้านเราเลยอย่าง www.opentender.net ที่นอกจากจะเอาข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมาเปิดเผยแล้ว ยังใช้ระบบวิเคราะห์ความเสี่ยงการคอร์รัปชันให้เห็นเป็นเปอร์เซ็นต์ได้เลย นอกจากนี้ระบบที่ดี มันต้องไม่ใช่
แค่มีข้อมูลไปไล่จับคนโกง แต่ต้องป้องกันไม่ให้โกงได้ตั้งแต่ต้น ผมขอยกตัวอย่างเมืองปอร์โต อัลเลเกร (Porto Alegre) ในบราซิลที่ประชาชนมีความตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณของรัฐมาก เพราะนอกจากเขาจะเปิดเผยข้อมูลงบประมาณรัฐบาลเมืองแล้ว เขายังเปิดให้ประชาชนร่วมออกแบบงบประมาณเองอีกด้วย หรือที่เราเรียกว่า participatory budgeting ทำให้สวัสดิภาพชีวิตของคนในเมืองดีขึ้นอย่างมาก สำหรับประเทศไทยเองก็มีความพยายามอยู่บ้าง ซึ่งส่วนใหญ่พัฒนาโดยประชาชนเอง ที่ใช้คำว่าบ้าง เพราะจุดแรกคือข้อมูลเปิด (open data) มันยังไม่เกิดไงครับความมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ (participation) มันเลยเกิดยาก
ปลุกสำนึกต้านโกงให้อยู่ในความรับผิดชอบ
เทรนด์สุดท้ายคือ A มาจาก Accountability หรือความรับผิดรับชอบ ซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทางจริงๆ ที่เราอยากให้เกิดขึ้นกับระบบที่ดีเลย เพราะมันจะทำให้ใครก็โกงยาก และคนที่ทำดีก็จะเจริญเติบโตในระบบนี้ได้อย่างดีด้วย ทำให้ที่ผ่านมารัฐบาลหลายรัฐบาลชอบกระโดดมาที่การสร้างความรับผิดรับชอบเลย ด้วยการใช้อำนาจรัฐปราบปราม บังคับใช้กฎหมาย โดยไม่สร้างการเปิดเผยข้อมูลและการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างเป็นระบบและเข้มแข็งก่อน มันเลยเกิดยาก หรือ ถึงมีก็ไม่ยั่งยืน บางทีการปราบปรามนั้นเลยกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองไปเลยด้วยซ้ำ
เราเคยได้เห็นตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ประเทศ เกาหลีใต้เองขนาดประธานาธิบดียังโดนสั่งจำคุกเพราะคดีคอร์รัปชันได้ นั่นเพราะประชาชนสามารถติดตามข้อมูลสาธารณะได้สะดวก และส่งข้อเรียกร้องได้อย่างปลอดภัย นำไปสู่การสร้างกลไกความรับผิดชอบที่มีประสิทธิผล
เริ่มเลย Open Data เปิดประตูป้องกันโกงไปด้วยกัน
แต่อย่าเพิ่งหมดหวังครับ เพราะในวันนี้เรามีโครงสร้างพื้นฐานเชิงเทคโนโลยีที่พร้อมขึ้นมาก เรามีตัวอย่างความสำเร็จของ trend นี้ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกแล้ว และที่สำคัญเรามีประชาชนจำนวนมากที่ตื่นรู้พร้อมสู้โกงแล้วด้วยจำนวนมาก ดังนั้นยังไม่ช้าเกินไปที่เราจะสร้างระบบที่ดีด้วย OPPA หรือการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) Participation (การมีส่วนร่วมของประชาชน) และ Accountability หรือการมีกลไกการรับผิดรับชอบได้ครับ
ด้วยการก้าวตามเทรนด์นี้ เราจะสามารถสร้างระบบนิเวศน์ของการป้องกันการคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล เอื้อให้การแก้ไขปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อม ประสบความสำเร็จได้มากขึ้นนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริงครับ
เนื้อหาโดย : รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และ ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
ภาพประกอบ : Khana Research Curator